Logo My Travel Site

จังหวัดสระแก้ว


คำขวัญประจำจังหวัดสระแก้ว  "ชายแดนเบื้องบูรพา ป่างาม น้ำตกสวย มากด้วยรอยอารยธรรมโบราณ ย่านการค้าไทยเขมร"

จังหวัดสระแก้วเป็นจังหวัดใหม่ที่แยกออกจากจังหวัดปราจีนบุรี ตั้งอยู่ติดชายแดนประเทศด้านตะวันออก มีแหล่งโบราณสถานและโบราณวัตถุหลายแห่ง และมีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ เช่น อุทยานแห่งชาติปางสีดาและอุทยานแห่งชาติตาพระยา

นอกจากนี้ สระแก้วยังมีประติมากรรมทางธรรมชาติอย่าง "ละลุ" ที่มีลักษณะแปลกตา และที่สุดชายแดนอำเภออรัญประเทศ เป็นประตูบานใหญ่ที่เปิดสู่อาณาจักรกัมพูชา เชื่อมการคมนาคมและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศให้เป็นเส้นทางเดียวกัน มีตลาดโรงเกลือที่เต็มไปด้วยของราคาถูกและสินค้ามือสองจากนานาประเทศเพื่อนบ้าน

จังหวัดสระแก้วมีเนื้อที่ประมาณ 7,195.138 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 4,497 ไร่ จัดเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 28 ของประเทศไทย ตั้งอยู่ริมชายแดนด้านตะวันออกของประเทศ มีพรมแดนติดต่อกับราชอาณาจักรกัมพูชาทางทิศตะวันออก ยาวประมาณ 165 กิโลเมตร สภาพพื้นที่มีทั้งที่ราบ ที่ราบสูง และภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเฉลี่ย 74 เมตร โดยมีทิวเขาบรรทัดอยู่ทางตอนบนของจังหวัด เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำบางปะกง และเป็นป่าทึบในบริเวณอุทยานแห่งชาติปางสีดา ทางด้านใต้เป็นที่ราบเชิงเขา มีสภาพเป็นป่าโปร่งเสื่อมโทรม ส่วนใหญ่ถูกบุกรุกและแผ้วถางเพื่อทำการเกษตร ทางด้านตะวันออกเป็นที่ราบถึงที่ราบสูง และมีสภาพเป็นป่าโปร่ง ทางด้านตะวันตกเป็นสันปันน้ำ และพื้นที่ลาดไปทางอำเภอเมืองสระแก้วและอำเภออรัญประเทศ ต่อเนื่องเข้าเขตราชอาณาจักรกัมพูชา ส่วนตอนกลางมีลักษณะเป็นที่ราบ ได้แก่ พื้นที่ของอำเภอวังน้ำเย็นและอำเภอวังสมบูรณ์

จังหวัดสระแก้วตั้งอยู่ติดชายแดนประเทศด้านตะวันออก เป็นเมืองที่มีประวัติความเป็นมายาวนานนับ 4,000 ปี ตั้งแต่ยุคหินใหม่ โดยมีการค้นพบวัตถุโบราณที่อำเภอเขาฉกรรจ์ อำเภออรัญประเทศ และอำเภอตาพระยา เป็นหลักฐานว่าบริเวณนี้เคยเป็นชุมชนที่มีความเจริญรุ่งเรืองในยุคเจนละและทวารวดี มีอารยธรรมและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง มีกษัตริย์หรือผู้ครองเมืองที่นับถือศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกายและไวษณพนิกาย ดังจะเห็นได้จากโบราณสถานและจารึกรูปอักษรปัลลวะ ที่ปรากฏในบริเวณปราสาทเขาน้อย เขตอรัญประเทศ ซึ่งถือกันว่าเป็นหลักฐานบันทึกศักราชที่เก่าแก่ที่สุดในกลุ่มจารึกรุ่นแรกที่พบในประเทศไทย สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 1180

นอกจากนี้ยังค้นพบหลักฐานความเจริญของอารยธรรมระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15-16 ในแถบนี้อย่างมากมาย มีทั้งปราสาทอิฐ ปราสาทหิน เตาเผา เครื่องถ้วย และคูเมืองโบราณที่ยังเหลือร่องรอยปรากฏในปัจจุบัน เช่น ปราสาทสด๊กก๊อกธม ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวสถานของพระศิวะ

จังหวัดสระแก้วมีที่มาจากชื่อสระน้ำโบราณในพื้นที่อำเภอเมืองสระแก้ว ซึ่งมีอยู่ 2 สระ โดยในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2523 ในสมัยกรุงธนบุรี ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ยกทัพไปตีราชอาณาจักรกัมพูชา ได้แวะพักบริเวณสระน้ำทั้ง 2 แห่งนี้ และขนานนามว่า "สระแก้วสระขวัญ" ต่อมาได้นำน้ำจากสระทั้ง 2 แห่งนี้ไปใช้ในการประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาด้วย จึงถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์

แต่เดิมสระแก้วมีฐานะเป็นตำบล เป็นที่ตั้งของด่านตรวจคนและสินค้าเข้าออก มีข้าราชการตำแหน่งนายกองทำหน้าที่เป็นนายด่าน จนถึงปี พ.ศ. 2452 ทางราชการจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็น "อำเภอสระแก้ว" อยู่ภายใต้การปกครองของจังหวัดปราจีนบุรี และต่อมาเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดสระแก้วขึ้น เป็นผลให้สระแก้วกลายเป็นจังหวัดที่ 74 ของประเทศไทยนับแต่นั้นมา

สระแก้วแบ่งการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมืองสระแก้ว อำเภอคลองหาด อำเภอตาพระยา อำเภอวังน้ำเย็น อำเภอวัฒนานคร อำเภออรัญประเทศ อำเภอเขาฉกรรจ์ อำเภอโคกสูง และกิ่งอำเภอวังสมบูรณ์

สระแก้วอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 236 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดสระแก้วได้อย่างสะดวกหลายวิธี ทั้งโดยรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง และรถไฟ

การเดินทางไป สระแก้ว

  • โดยรถไฟ:
    การรถไฟแห่งประเทศไทยมีบริการรถไฟออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปยังจังหวัดสระแก้วทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3.5-4.5 ชั่วโมง

    นักท่องเที่ยวสามารถสอบถามข้อมูลการเดินทางและราคาตั๋วโดยสารของการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1690 ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง หรือทางเว็บไซต์ www.railway.co.th และจองตั๋วรถไฟก่อนวันเดินทางไม่น้อยกว่า 3 วัน ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2220-4444 ทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น.
  • โดยรถยนต์:
    จากกรุงเทพฯ สามารถไปได้ 4 เส้นทาง ได้แก่

    1. ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ถึงรังสิต แล้วใช้สะพานวงแหวนแยกขวา เข้าเส้นทางหมายเลข 305 เลียบคลองรังสิต ผ่านอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก แล้วแยกขวาใช้เส้นทางหมายเลข 33 ผ่านอำเภอกบินทร์บุรี ไปจนถึงจังหวัดสระแก้ว รวมระยะทางประมาณ 214 กิโลเมตร

    2. ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ผ่านอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถึงแยกหินกอง ประมาณกิโลเมตรที่ 90 แยกขวาใช้เส้นทางหมายเลข 33 ผ่านอำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี จังหวัดนครนายก และอำเภอกบินทร์บุรี ไปจนถึงจังหวัดสระแก้ว รวมระยะทางประมาณ 245 กิโลเมตร

    3. ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 ผ่านเขตมีนบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอพนมสารคาม ถึงอำเภอกบินทร์บุรี แยกขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 33 ไปจนถึงจังหวัดสระแก้ว รวมระยะทางประมาณ 210 กิโลเมตร

    4. ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 ผ่านเขตมีนบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอพนมสารคาม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน จนถึงประมาณกิโลเมตรที่ 54 ให้แยกขวาไปตามทางหมายเลข 359 อีกประมาณ 65 กิโลเมตรถึงจังหวัดสระแก้ว
  • โดยรถประจำทาง:
    มีรถประจำทางปรับอากาศสายกรุงเทพฯ-สระแก้ว ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ หมอชิต 2 ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th

    ปัจจุบันบริษัท ขนส่ง จำกัด ได้เปิดให้บริการจองตั๋วรถโดยสารออนไลน์แล้ว ติดต่อได้ที่ www.thaiticketmajor.com

การเดินทางภายใน สระแก้ว

ในตัวจังหวัดสระแก้วมีรถชนิดต่างๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่างๆ ได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม

รถสองแถว มีวิ่งบริการจากสถานีขนส่งไปยังที่ต่างๆ ในตัวเมือง นักท่องเที่ยวอาจเหมารถสองแถวไปเที่ยวได้ทั้งในเมืองและต่างอำเภอ คิดราคาวันละ 1,000-2,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางและการต่อรอง

รถสามล้อเครื่องและมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จอดอยู่ตามจุดต่างๆ ในจังหวัด เช่น หน้าตลาดเทศบาล หน้าสถานีขนส่ง ค่าบริการมีทั้งแบบตกลงกันตามแต่ระยะทางและแบบเหมาจ่าย

ระยะทางจากอำเภอเมืองสระแก้วไปยังอำเภอต่างๆ คือ

-อำเภอเขาฉกรรจ์ 19 กิโลเมตร
-อำเภอวัฒนานคร 38 กิโลเมตร
-อำเภอวังน้ำเย็น 50 กิโลเมตร
-อำเภออรัญประเทศ 54 กิโลเมตร
-กิ่งอำเภอวังสมบูรณ์ 55 กิโลเมตร
-อำเภอคลองหาด 65 กิโลเมตร
-อำเภอโคกสูง 72 กิโลเมตร
-อำเภอตาพระยา 100 กิโลเมตร


จองที่พัก จองห้องพัก จองรีสอร์ท จองโรงแรมที่พัก


Thanks for visiting!

TourTravelThai.com