Logo My Travel Site

จังหวัดศรีสะเกษ


คำขวัญประจำจังหวัดศรีสะเกษ  "แดนปราสาทขอม หอมกระเทียมดี มีสวนสมเด็จ เขตดงลำดวน หลากล้วนวัฒนธรรม เลิศล้ำสามัคคี"

จังหวัดศรีสะเกษเป็นจังหวัดชายแดนในภาคอีสานตอนล่าง ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ อารยธรรม และศิลปวัฒนธรรมของหลากหลายชนชาติ โดยเฉพาะขอมโบราณ ที่ผสมผสานเข้ากับวิถีชีวิตพื้นบ้านแบบไทยอีสานได้อย่างลงตัวและกลมกลืน มีเอกลักษณ์โดดเด่นและน่าสนใจ

ศรีสะเกษยังมีทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่าไม้ แหล่งน้ำ พืชพรรณ และสัตว์ป่านานาชนิด อันเป็นทั้งสิ่งที่หล่อเลี้ยงชาวเมืองมาเป็นเวลาช้านาน และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามและไม่ควรมองข้าม

จังหวัดศรีสะเกษมีเนื้อที่ประมาณ 8,840 ตารางกิโลเมตร หรือ 5.52 ล้านไร่ เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 21 ของประเทศ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลอนลาด ทางตอนเหนือเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ มีแม่น้ำมูลไหลผ่าน ทางตอนใต้มีทิวเขาพนมดงรักทอดตัวในแนวตะวันตก-ตะวันออกเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา มียอดเขาสูงสุด คือ พนมโนนอาว อยู่ในเขตอำเภอกันทรลักษ์ มีความสูง 671 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง

ศรีสะเกษเป็นเมืองที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ในอดีตเคยเป็นชุมชนที่มีความเจริญรุ่งเรืองมากนานนับพันปี ตั้งแต่ในยุคขอมเรืองอำนาจ และมีชนเผ่าต่างๆ จากหลายเชื้อชาติอพยพมาตั้งรกรากอยู่ในบริเวณนี้จำนวนมาก ทั้งพวกส่วย ลาว เขมร และเยอ

ในปี พ.ศ. 2302 สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์โปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณที่เป็นตำบลดวนใหญ่ อำเภอวังหิน ในปัจจุบัน ขึ้นเป็น เมืองนครลำดวน ซึ่งต่อมาได้ย้ายไปตั้งที่ริมหนองแตระ และมีชื่อใหม่ว่า "เมืองขุขันธ์" หรือ "เมืองคูขัณฑ์" โดยมี หลวงแก้วสุวรรณ ซึ่งได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระยาไกรภักดี เป็นเจ้าเมืองคนแรก ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้แยกบ้านโนนสามขาสระกำแพงออกจากเมืองขุขันธ์ แล้วตั้งเป็นเมืองใหม่เรียกว่า เมืองศรีสะเกศ

จนกระทั่งในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองศรีสะเกศและเมืองเดชอุดมเข้าเป็นเมืองเดียวกับเมืองขุขันธ์ มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่บ้านเมืองเก่า ตำบลเมืองเหนือ อำเภอเมืองศรีสะเกษในปัจจุบัน ต่อมาใน พ.ศ. 2459 มีการเปลี่ยนคำว่า เมือง เป็น จังหวัด เมืองขุขันธ์จึงเปลี่ยนเป็น "จังหวัดขุขันธ์" ซึ่งเปลี่ยนอีกครั้งเป็น จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ตามพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่งพุทธศักราช 2481

ปัจจุบันจังหวัดศรีสะเกษแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 20 อำเภอ 2 กิ่งอำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอยางชุมน้อย อำเภอกันทรารมย์ อำเภอกันทรลักษ์ อำเภอขุขันธ์ อำเภอไพรบึง อำเภอปรางค์กู่ อำเภอขุนหาญ อำเภอราษีไศล อำเภออุทุมพรพิสัย อำเภอบึงบูรพ์ อำเภอห้วยทับทัน อำเภอโนนคูณ อำเภอศรีรัตนะ อำเภอน้ำเกลี้ยง อำเภอวังหิน อำเภอภูสิงห์ อำเภอเมืองจันทร์ อำเภอเบญจลักษ์ อำเภอพยุห์ กิ่งอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ และกิ่งอำเภอศิลาลาด

ศรีสะเกษอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 540 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดศรีสะเกษได้หลายวิธี ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง และรถไฟ

การเดินทางไป ศรีสะเกษ

  • โดยรถไฟ:
    การรถไฟแห่งประเทศไทยมีบริการรถไฟออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปยังจังหวัดศรีสะเกษทุกวัน ทั้งรถเร็ว รถด่วน และรถด่วนพิเศษ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 9-11 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690 หรือ www.railway.co.th
  • โดยรถยนต์:
    จากกรุงเทพฯ สามารถไปได้ 2 เส้นทาง คือ

    1. ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จนถึงจังหวัดสระบุรี แยกขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ไปจนถึงจังหวัดนครราชสีมา จากนั้นแยกใช้ทางหลวงหมายเลข 226 ผ่านจังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสุรินทร์ ถึงจังหวัดศรีสะเกษ

    2. ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จนถึงจังหวัดสระบุรี แยกขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ไปจนถึงอำเภอสีคิ้ว แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 24 (โชคชัย-เดชอุดม) ผ่านอำเภอโชคชัย อำเภอนางรอง อำเภอสังขะ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ตัวเมืองศรีสะเกษ โดยใช้เส้นทางหมายเลข 220 หรือ 221 ก็ได้
  • โดยรถประจำทาง:
    มีรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของเอกชน สายกรุงเทพฯ-ศรีสะเกษ ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8-9 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th

    ปัจจุบันบริษัท ขนส่ง จำกัด ได้เปิดให้บริการจองตั๋วรถโดยสารออนไลน์แล้ว ติดต่อได้ที่ www.thaiticketmajor.com นอกจากนี้ยังสามารถซื้อตั๋วออนไลน์ได้ที่ไทยรูท ดอทคอม www.thairoute.com

การเดินทางภายใน ศรีสะเกษ

ในตัวจังหวัดศรีสะเกษมีรถชนิดต่างๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่างๆ ได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม

รถสองแถว มีวิ่งบริการจากสถานีขนส่งไปยังที่ต่างๆ ในตัวเมือง นักท่องเที่ยวอาจเหมารถสองแถวไปเที่ยวได้ทั้งในเมืองและต่างอำเภอ คิดราคาวันละ 1,000-2,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางและการต่อรอง

รถสามล้อเครื่องและมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จอดอยู่ตามจุดต่างๆ ในจังหวัด เช่น หน้าตลาดเทศบาล หน้าสถานีขนส่ง ค่าบริการมีทั้งแบบตกลงกันตามแต่ระยะทางและแบบเหมาจ่าย

ระยะทางจากอำเภอเมืองศรีสะเกษไปยังอำเภอต่างๆ คือ

-อำเภอพยุห์ 21 กิโลเมตร
-อำเภออุทุมพรพิสัย 24 กิโลเมตร
-อำเภอกันทรารมย์ 26 กิโลเมตร
-อำเภอภูสิงห์ 28 กิโลเมตร
-กิ่งอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ 29 กิโลเมตร
-อำเภอยางชุมน้อย 32 กิโลเมตร
-อำเภอวังหิน 35 กิโลเมตร
-อำเภอศรีรัตนะ 37 กิโลเมตร
-อำเภอห้วยทับทัน 37 กิโลเมตร
-อำเภอราษีไศล 38 กิโลเมตร
-อำเภอเมืองจันทร์ 40 กิโลเมตร
-อำเภอบึงบูรพ์ 42 กิโลเมตร
-อำเภอไพรบึง 42 กิโลเมตร
-อำเภอน้ำเกลี้ยง 44 กิโลเมตร
-อำเภอขุขันธ์ 49 กิโลเมตร
-กิ่งอำเภอศิลาลาด 50 กิโลเมตร
-อำเภอโนนคูณ 56 กิโลเมตร
-อำเภอขุนหาญ 60 กิโลเมตร
-อำเภอปรางค์กู่ 60 กิโลเมตร
-อำเภอกันทรลักษ์ 63 กิโลเมตร
-อำเภอเบญจลักษ์ 80 กิโลเมตร


จองโรงแรม จองที่พัก จองห้องพัก จองรีสอร์ท จองโรงแรมที่พัก


Thanks for visiting!

TourTravelThai.com