Logo My Travel Site

จังหวัดกรุงเทพมหานคร


กรุงเทพฯ หรือ บางกอก เมืองหลวงของประเทศไทย เริ่มก่อตั้งภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงครองราชย์ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ เมื่อวันเสาร์ ที่ 6 เมษายน เดือน 5 แรม 9 ค่ำ ปีขาล พ.ศ. 2325 พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังทางคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาฟากตะวันออก เนื่องจากเป็นชัยภูมิที่ดีกว่ากรุงธนบุรีเพราะมีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแนวคูเมืองทางด้านตะวันตก และด้านใต้

อาณาเขตของกรุงเทพฯ ในขั้นแรกถือเอาแนวคูเมืองเดิมฝั่งตะวันออกของกรุงธนบุรี คือ แนวคลองหลอด ตั้งแต่ปากคลองตลาดจนออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปิ่นเกล้า เป็นบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ มีพื้นที่ประมาณ 1.8 ตารางกิโลเมตร

บริเวณที่สร้างพระราชวังนั้นเดิมเป็นที่อยู่อาศัยของพระยาราชเศรษฐี และชาวจีน ซึ่งได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปอยู่ที่สำเพ็ง ในการก่อสร้างพระราชวังโปรดเกล้าฯ ให้พระยาธรรมาธิบดี กับพระยาวิจิตรนาวีเป็นแม่กองคุมการก่อสร้าง ได้ตั้งพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ย่ำรุ่งแล้ว 54 นาที (21 เมษายน 2325) พระราชวังแล้วเสร็จ เมื่อพ.ศ. 2328 จึงได้จัดให้มีพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบแผน รวมทั้งงานฉลองพระนคร โดยพระราชทานนามพระนครใหม่ว่า กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยน คำว่า บวรรัตนโกสินทร์ เป็น อมรรัตนโกสินทร์ และในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีได้รวมจังหวัด ธนบุรีเข้าไว้ด้วยกันกับกรุงเทพฯ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515

อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดนนทบุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดสมุทรปราการ
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดฉะเชิงเทรา
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดนครปฐม

กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของประเทศ เป็นจุดเริ่มต้นของทางหลวงและทางรถไฟ และมีท่าอากาศยานสำคัญถึง 2 แห่ง นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศได้อย่างสะดวกหลายวิธี ทั้งโดยรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง รถไฟ และเครื่องบิน

การเดินทางไป กรุงเทพมหานคร

การเดินทางภายใน กรุงเทพมหานคร

ในปัจจุบัน ระบบคมนาคมขนส่งของกรุงเทพมหานครใช้ทางบกเป็นหลัก โดยเฉพาะการคมนาคมขนส่งตามเส้นทางถนน เนื่องจากเข้าถึงชุมชนได้สะดวกกว่าระบบอื่น และเป็นการเดินทางโดยยานพาหนะส่วนบุคคลเป็นหลัก

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังมีระบบการขนส่งสาธารณะที่ได้มาตรฐานและทันสมัย การเดินทางและท่องเที่ยวภายในเมืองจึงทำได้ง่ายและสะดวกสบายแม้ไม่มีรถยนต์ส่วนตัว เพราะมีพาหนะอื่นๆ ให้เลือกใช้มากมายหลายรูปแบบ ทั้งทางบก คือ รถแท็กซี่มิเตอร์ รถเมล์ รถจักรยานยนต์รับจ้าง รถตุ๊กตุ๊ก รถไฟ รถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าใต้ดิน และทางน้ำ คือ เรือ

รถแท็กซี่มิเตอร์ วิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารและจอดตามจุดจอดรถต่างๆ ทั่วเมือง โดยคิดอัตราค่าโดยสารตามเกณฑ์ระยะทางร่วมกับเกณฑ์ระยะเวลา มีค่าบริการพิเศษเพิ่มเติมในกรณีเรียกใช้บริการผ่านศูนย์วิทยุสื่อสาร 20 บาท ต่อเที่ยว และกรณีเรียกจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ณ จุดที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กำหนดไว้ 50 บาท ต่อเที่ยว และผู้โดยสารต้องจ่ายค่าทางด่วนเอง

รถโดยสารประจำทาง มีทั้งรถปรับอากาศและรถไม่ปรับอากาศ ให้บริการตั้งแต่เวลาประมาณ 04.00-23.00 น. และบางสายให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยเป็นรถของทั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และรถร่วมบริการ ติดต่อสอบถามเส้นทางการเดินรถได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 184 หรือทางเว็บไซต์ www.bmta.co.th นอกจากนี้ยังมีรถตู้โดยสารประจำทางของเอกชนให้บริการในเส้นทางต่างๆ ทั่วเมืองด้วย

แอร์พอร์ตบัส ให้บริการระหว่างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและจุดต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร มี 4 เส้นทาง คือ
สาย AE1 สุวรรณภูมิ-สีลม (ทางด่วน)

สาย AE 2 สุวรรณภูมิ-บางลำภู (ทางด่วน)

สาย AE 3 สุวรรณภูมิ-ถนนวิทยุ และสุวรรณภูมิ-สุขุมวิท 3 (นานาเหนือ)

สาย AE 4 สุวรรณภูมิ-หัวลำโพง (ทางด่วน)

ค่าโดยสาร 150 บาท ตลอดสายทุกเส้นทาง
รถไฟฟ้าใต้ดิน มีสถานีทั้งหมด 18 สถานี เริ่มจากหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกจนไปสิ้นสุดที่สถานีรถไฟบางซื่อ เปิดให้บริการทุกวัน ไม่มีวันหยุด ตั้งแต่เวลา 06.00-24.00 น. โดยเก็บค่าโดยสารตามระยะการเดินทางจริงของผู้โดยสาร ตรวจสอบข้อมูลการเดินรถได้ที่เว็บไซต์ www.bangkokmetro.co.th

รถไฟฟ้าบีทีเอส มี 2 เส้นทาง คือ สายสุขุมวิทและสายสีลม เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 06.00-24.00 น. โดยเก็บค่าโดยสารตามระยะการเดินทางจริงของผู้โดยสาร ตรวจสอบข้อมูลการเดินรถได้ที่เว็บไซต์ www.bts.co.th

รถจักรยานยนต์รับจ้างและรถตุ๊กตุ๊ก วิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารและจอดตามจุดจอดรถต่างๆ ทั่วเมือง โดยคิดอัตราค่าโดยสารตามระยะทางและตามแต่ตกลง

เรือด่วนเจ้าพระยา มีบริการตลอดเส้นทางการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวน 34 ท่าเรือ โดยแยกออกเป็น 4 สาย คือ เรือด่วนประจำทาง เรือด่วนพิเศษธงส้ม เรือด่วนพิเศษธงเหลือง และเรือด่วนพิเศษธงฟ้า นอกจากนี้ยังมีบริการเรือโดยสารข้ามฟากบริเวณท่าเรือต่างๆ และมีบริการเรือหางยาวโดยสารแล่นตลอดลำคลองแสนแสบ คลองลาดพร้าว คลองบางกอกน้อย และคลองต่างๆ ด้วย สอบถามข้อมูลการเดินทางของเรือด่วนเจ้าพระยาได้ที่โทร. 0 2623 6143 เว็บไซต์ www.chaophrayaboat.co.th

การรถไฟแห่งประเทศไทยมีบริการเดินรถไฟไปตามสถานีรถไฟชานเมืองภายในเขตกรุงเทพฯ ได้แก่ สายเหนือและสายอีสาน วิ่งไปถึงสถานีรถไฟดอนเมือง สายตะวันออก วิ่งไปถึงสถานีรถไฟหัวตะเข้ และสายใต้ วิ่งไปถึงสถานีรถไฟตลิ่งชัน สอบถามรายละเอียดได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690 หรือ http://www.railway.co.th/


จองที่พัก จองห้องพัก จองรีสอร์ท จองโรงแรมที่พัก


Thanks for visiting!

TourTravelThai.com