Logo My Travel Site

จังหวัดปทุมธานี


คำขวัญประจำจังหวัดปทุมธานี  "ถิ่นบัวหลวง เมืองรวงข้าว เชื้อชาวมอญ นครธรรมะ พระตำหนักรวมใจ สดใสเจ้าพระยา ก้าวหน้าอุตสาหกรรม"

ปทุมธานีเป็นหนึ่งในจังหวัดปริมณฑลที่มีความเจริญในด้านต่างๆ มาก เป็นเมืองศูนย์กลางทางการศึกษา วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีของภูมิภาค มีมหาวิทยาลัยและสถานศึกษาต่างๆ อยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยมรดกทางศิลปวัฒนธรรมและเอกลักษณ์อื่นๆ โดยเฉพาะวัฒนธรรมของชาวมอญ ที่ตกทอดรุ่นสู่รุ่นมาเป็นเวลาหลายชั่วอายุคน อันเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง

และด้วยทำเลที่ตั้งที่อยู่ใกล้กรุงเทพมหานคร มีการคมนาคมสะดวก จังหวัดปทุมธานีจึงเป็นอีกหนึ่งเมืองท่องเที่ยวทางเลือกของนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน

บริเวณที่เป็นที่ตั้งของจังหวัดปทุมธานีในปัจจุบันนี้ เคยมีชุมชนตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยมาแล้วเป็นเวลากว่า 300 ปี นับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 2202 ได้มีครอบครัวชาวมอญจากเมืองเมาะตะมะอพยพหนีภัยศึกสงครามกับพม่า เข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชาวมอญดังกล่าวไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสามโคก ชุมชนสามโคกจึงได้พัฒนาขึ้นมาตามลำดับนับจากนั้น

ต่อมาในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี ก็ได้มีชาวมอญอพยพหนีพม่าเข้ามาอีก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปอาศัยอยู่ร่วมกับชุมชนชาวมอญที่สามโคก เป็นชุมชนชาวมอญที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

กระทั่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีกลุ่มชาวมอญจากเมืองเมาะตะมะอพยพเข้าสู่ประเทศไทยเป็นจำนวนมากอีกครั้งหนึ่ง พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชาวมอญบางส่วนตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสามโคกอีกเช่นเดียวกัน ชุมชนบ้านสามโคกจึงเติบโตขยายขนาดขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นเมืองสามโคกในเวลาต่อมา

ในปี พ.ศ. 2358 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้เสด็จประพาสเมืองสามโคก และประทับที่พลับพลาริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งซ้าย เยื้องกับเมืองสามโคก ชาวมอญจำนวนมากที่ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณได้พากันนำดอกบัวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายราชสักการะ จึงพระราชทานนามเมืองสามโคกใหม่ว่า "เมืองประทุมธานี" อันมีความหมายว่า เมืองแห่งดอกบัว นั่นเอง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2461 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดให้ใช้คำว่า "จังหวัด" แทน "เมือง" และให้เปลี่ยนการเขียนชื่อจังหวัด "ประทุมธานี" เป็น "ปทุมธานี" และปี พ.ศ. 2475 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ก็ได้โปรดให้ยุบจังหวัดธัญบุรีลง กลายเป็นอำเภอหนึ่งที่ขึ้นกับจังหวัดปทุมธานีนับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

จังหวัดปทุมธานีแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ เช่น อำเภอเมืองปทุมธานี อำเภอคลองหลวง อำเภอธัญบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอลำลูกกา ฯลฯ

ปทุมธานีอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางทิศเหนือ ประมาณ 28 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดปทุมธานีได้หลายวิธี ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง และรถไฟ

การเดินทางไป ปทุมธานี

  • โดยรถไฟ:
    การรถไฟแห่งประเทศไทยมีบริการรถไฟออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ทุกวัน ขบวนรถไฟสายเหนือที่ออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ทุกขบวน วิ่งผ่านจังหวัดปทุมธานี โดยลงที่สถานีรังสิต แล้วต่อรถเข้าสู่อำเภอเมืองปทุมธานี
  • โดยรถยนต์:
    จังหวัดปทุมธานีเชื่อมต่อกับกรุงเทพฯ ด้วยถนนหลายสาย จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางไปจังหวัดปทุมธานีได้ 5 เส้นทาง ดังนี้

    1. ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) หรือถนนวิภาวดีรังสิต หรือโทลล์เวย์ จนถึงรังสิต แล้วแยกซ้ายเข้าใช้เส้นทางหมายเลข 346 (รังสิต-ปทุมธานี) จนถึงอำเภอเมืองปทุมธานี

    2. ใช้ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา) ออกจากทางด่วนที่ทางออกบางพูน-รังสิต แล้วใช้เส้นทางหมายเลข 346 (รังสิต-ปทุมธานี) จนถึงอำเภอเมืองปทุมธานี

    3. ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-นนทบุรี-ปากเกร็ด-ปทุมธานี

    4. ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-บางใหญ่-บางบัวทอง-ลาดหลุมแก้ว-ปทุมธานี

    5. ใช้ถนนวงแหวนตะวันออก ออกที่ทางออกรังสิต แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 305 (รังสิต-นครนายก) เลียบคลองรังสิตมุ่งหน้าไปยังรังสิต แล้วใช้สะพานต่างระดับข้ามถนนพหลโยธินเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 346 (รังสิต-ปทุมธานี) ไปจนถึงอำเภอเมืองปทุมธานี

    รถโดยสารประจำทาง
    จากกรุงเทพฯ มีรถโดยสารประจำทางปรับอากาศและไม่ปรับอากาศ ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และรถร่วมบริการมายังจังหวัดปทุมธานีหลายสาย เช่น

    สาย 33 สนามหลวง-ปทุมธานี
    สาย 90 รัชโยธิน-ท่าน้ำปทุมธานี

    และมีรถไปถึงรังสิตหลายสาย ได้แก่ สาย 29, 34, 39, 59, 95, 185, 503, 510, 513, 520, 522, 529, 534, 539 และสาย 559 เมื่อลงรถที่รังสิตแล้วต่อรถสายรังสิต-ปทุมธานี
  • โดยทางอื่น:
    รถตู้
    มีรถตู้ร่วมบริการวิ่งจากตัวเมืองกรุงเทพฯ ถึงรังสิตหลายสาย โดยรถจะจอดอยู่ตามคิวรถต่างๆ เช่น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สวนจตุจักร หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์บางกะปิ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว ตลาดมีนบุรี ฯลฯ และจอดรับส่งผู้โดยสารตลอดเส้นทางตามป้ายรถโดยสารประจำทาง

การเดินทางภายใน ปทุมธานี

ในตัวจังหวัดปทุมธานีมีรถชนิดต่างๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่างๆ ได้หลายรูปแบบ

รถโดยสารประจำทาง มีทั้งรถปรับอากาศและรถไม่ปรับอากาศ วิ่งอยู่ทั่วไปตามถนนเส้นหลัก ให้บริการตั้งแต่เวลาประมาณ 04.00-23.00 น. และบางสายให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยเป็นรถของทั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และรถร่วมบริการ

รถเมล์เล็ก รถสองแถว รถสามล้อเครื่อง และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จอดอยู่ตามจุดต่างๆ ในจังหวัด เช่น หน้าสถานีรถไฟ สถานีขนส่ง ตลาดสด และห้างสรรพสินค้าต่างๆ ค่าบริการมีทั้งแบบตกลงกันตามแต่ระยะทางและแบบเหมาจ่าย

ระยะทางจากอำเภอเมืองปทุมธานีไปยังอำเภอต่างๆ คือ

-อำเภอสามโคก 5 กิโลเมตร
-อำเภอลาดหลุมแก้ว 16 กิโลเมตร
-อำเภอคลองหลวง 22 กิโลเมตร
-อำเภอลำลูกกา 32 กิโลเมตร
-อำเภอธัญบุรี 34 กิโลเมตร
-อำเภอหนองเสือ 47 กิโลเมตร


จองที่พัก จองห้องพัก จองรีสอร์ท จองโรงแรมที่พัก


Thanks for visiting!

TourTravelThai.com