Logo My Travel Site

จังหวัดปราจีนบุรี


คำขวัญประจำจังหวัดปราจีนบุรี  "ศรีมหาโพธิ์คู่บ้าน ไผ่ตงหวานคู่เมือง ผลไม้ลือเลื่อง เขตเมืองทวารวดี"

จังหวัดปราจีนบุรีตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของภาคกลาง เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีทรัพยากรในด้านการท่องเที่ยวมากมายและหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะผืนป่ามรดกโลกของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลาน ที่นับเป็นสมบัติล้ำค่าในด้านของทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งของประเทศและของโลก

เดิมปราจีนบุรีเป็นจังหวัดใหญ่ มีพื้นที่กว้างขวางเป็นอันดับ 6 ของประเทศ แต่ภายหลังได้มีการแยกจังหวัดออกจากมณฑลปราจิณ ตั้งเป็นจังหวัดนครนายกและฉะเชิงเทรา และในปี พ.ศ. 2536 ก็ได้มีพระราชบัญญัติแยกพื้นที่บางอำเภอออกจากจังหวัดปราจีนบุรีอีกครั้ง แล้วตั้งเป็นจังหวัดสระแก้ว จังหวัดปราจีนบุรีจึงมีขนาดเท่ากับในปัจจุบันนับแต่นั้นมา

จังหวัดปราจีนบุรีมีเนื้อที่ประมาณ 4,762 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 3,054,449 ไร่ จัดเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 45 ของประเทศไทย สภาพพื้นที่แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ เขตที่ราบสูงทางตอนบนของจังหวัด ติดเทือกเขาดงพญาเย็น บริเวณรอยต่อของจังหวัดนครนายกและจังหวัดนครราชสีมา มีลักษณะเป็นที่ราบสูงคล้ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มียอดเขาสูง 1,326 เมตร พื้นที่ส่วนมากเป็นป่าทึบและเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำหลายสาย และเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำทางตอนล่าง มีแม่น้ำสายสำคัญ คือ แม่น้ำบางปะกง ซึ่งเกิดจากแควหนุมานและแควพระปรง ไหลมาบรรจบกันที่อำเภอกบินทร์บุรี ผ่านอำเภอศรีมหาโพธิ อำเภอประจันตคาม อำเภอเมืองปราจีนบุรี อำเภอบ้านสร้าง แล้วไหลเข้าสู่จังหวัดฉะเชิงเทรา บริเวณแถบนี้เหมาะแก่การเพาะปลูก โดยเฉพาะการทำสวนผลไม้

บริเวณที่ตั้งของจังหวัดปราจีนบุรีในปัจจุบัน พบว่ามีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนสมัยโบราณตั้งแต่เมื่อประมาณ 2,0002,500 ปี มาแล้ว ซึ่งตรงกับสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย และมีอารยธรรมเจริญรุ่งเรืองตั้งแต่สมัยทวารวดีต่อเนื่องมาจนถึงสมัยลพบุรี ดังปรากฏหลักฐานเป็นซากเมืองโบราณที่เรียกว่า เมืองศรีมโหสถ ที่ตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมโหสถ และทางด้านทิศตะวันออกของเมืองศรีมโหสถ บริเวณบ้านโคกขวาง อำเภอศรีมหาโพธิ ยังพบชุมชนโบราณอายุร่วมสมัยเดียวกันกับเมืองศรีมโหสถ บริเวณซากเมืองโบราณเหล่านี้มีซากโบราณสถานที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและพบโบราณวัตถุต่างๆ ได้แก่ พระพุทธรูป เทวรูป เครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้ประเภทสำริด กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป

ต่อมาศูนย์กลางความเจริญได้ย้ายมาอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกงเช่นในปัจจุบัน มีชุมชนหนาแน่นจนเกิดเป็นเมืองขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เรียกว่า เมืองปราจีน และในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นเรียกว่า เมืองปราจิณ หรือ มณฑลปราจิณ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดให้จัดระเบียบการปกครองแผ่นดินตามแบบต่างประเทศ มณฑลปราจิณถูกยุบเลิก คงมีฐานะเป็นเพียงหัวเมืองเมืองหนึ่ง ต่อมาโปรดให้เปลี่ยนคำว่า เมือง เป็น จังหวัด จึงมีชื่อเรียกใหม่ว่า จังหวัดปราจีนบุรี

ปัจจุบันปราจีนบุรีแบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ คือ อำเภอเมืองปราจีนบุรี อำเภอบ้านสร้าง อำเภอประจันตคาม อำเภอศรีมโหสถ อำเภอศรีมหาโพธิ อำเภอกบินทร์บุรี และอำเภอนาดี

ปราจีนบุรีอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 135 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดปราจีนบุรีได้อย่างสะดวกหลายวิธี ทั้งโดยรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง และรถไฟ

การเดินทางไป ปราจีนบุรี

  • โดยรถไฟ:
    การรถไฟแห่งประเทศไทยมีบริการรถไฟออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปยังจังหวัดปราจีนบุรีทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2-3 ชั่วโมง

    นักท่องเที่ยวสามารถสอบถามข้อมูลการเดินทางและราคาตั๋วโดยสารของการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1690 ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง หรือทางเว็บไซต์ www.railway.co.th และจองตั๋วรถไฟก่อนวันเดินทางไม่น้อยกว่า 3 วัน ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2220-4444 ทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น.
  • โดยรถยนต์:
    จากกรุงเทพฯ สามารถไปได้หลายเส้นทาง ได้แก่

    1. ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ถึงรังสิต แล้วใช้สะพานวงแหวนแยกขวามาเข้าเส้นทางหมายเลข 305 เลียบคลองรังสิต ผ่านอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก แล้วใช้เส้นทางหมายเลข 33 (นครนายก-ปราจีนบุรี) ถึงสามแยกหนองชะอม ประมาณกิโลเมตรที่ 155 แยกขวาเข้าเส้นทางหมายเลข 319 จนถึงตัวจังหวัดปราจีนบุรี รวมระยะทางประมาณ 132 กิโลเมตร

    2. ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ผ่านอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถึงแยกหินกอง ประมาณกิโลเมตรที่ 90 แยกขวาใช้เส้นทางหมายเลข 33 ผ่านอำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี และจังหวัดนครนายก ไปจนถึงสามแยกบ้านหนองชะอม ประมาณกิโลเมตรที่ 155 ให้แยกขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 319 จนถึงตัวจังหวัดปราจีนบุรี รวมระยะทางประมาณ 164 กิโลเมตร

    3. ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 ผ่านเขตมีนบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอพนมสารคาม แล้วเข้าเส้นทางหมายเลข 319 ผ่านอำเภอศรีมโหสถ จนถึงตัวจังหวัดปราจีนบุรี รวมระยะทางประมาณ 158 กิโลเมตร

    4. จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 3481 ที่เขตหนองจอก ผ่านอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา จนถึงอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี รวมระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร
  • โดยรถประจำทาง:
    มีรถประจำทางปรับอากาศสายกรุงเทพฯ-ปราจีนบุรี ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ หมอชิต 2 ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th

    ปัจจุบันบริษัท ขนส่ง จำกัด ได้เปิดให้บริการจองตั๋วรถโดยสารออนไลน์แล้ว ติดต่อได้ที่ www.thaiticketmajor.com

การเดินทางภายใน ปราจีนบุรี

ในตัวจังหวัดปราจีนบุรีมีรถชนิดต่างๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่างๆ ได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม

รถสองแถว มีวิ่งบริการจากสถานีขนส่งไปยังที่ต่างๆ ในตัวเมือง นักท่องเที่ยวอาจเหมารถสองแถวไปเที่ยวได้ทั้งในเมืองและต่างอำเภอ คิดราคาวันละ 1,000-2,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางและการต่อรอง

รถสามล้อเครื่องและมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จอดอยู่ตามจุดต่างๆ ในจังหวัด เช่น หน้าตลาดเทศบาล หน้าสถานีขนส่ง และสถานีรถไฟ ค่าบริการมีทั้งแบบตกลงกันตามแต่ระยะทางและแบบเหมาจ่าย

ระยะทางจากอำเภอเมืองปราจีนบุรีไปยังอำเภอต่างๆ คือ

-อำเภอบ้านสร้าง 20 กิโลเมตร
-อำเภอศรีมโหสถ 20 กิโลเมตร
-อำเภอศรีมหาโพธิ 21 กิโลเมตร
-อำเภอประจันตคาม 30 กิโลเมตร
-อำเภอกบินทร์บุรี 60 กิโลเมตร
-อำเภอนาดี 78 กิโลเมตร


จองที่พัก จองห้องพัก จองรีสอร์ท จองโรงแรมที่พัก


Thanks for visiting!

TourTravelThai.com