Logo My Travel Site

จังหวัดจันทบุรี


     จังหวัดจันทบุรีตั้งอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของประเทศไทย เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งในดินและในน้ำ มีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตร โดยเฉพาะการเพาะปลูกผลไม้ที่ขึ้นชื่อของจังหวัด ได้แก่ ทุเรียน เงาะ มังคุด ลางสาด และพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ เช่น พริกไทยและยางพารา ส่วนบริเวณชายฝั่งก็มีทำการประมง จึงเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารทะเลนานาชนิด

และในอีกแง่มุมหนึ่ง จันทบุรีคือศูนย์กลางธุรกิจด้านอัญมณีที่มีชื่อเสียงแพร่หลายไปทั่วโลก เป็นแหล่งรวมช่างฝีมือในการเจียระไนอัญมณีและทำเครื่องประดับต่างๆ ทั้งยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง และมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่น่าสนใจมากมาย ทั้งศาสนสถาน โบราณสถาน และโบราณวัตถุ จึงทำให้จันทบุรีเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศในปัจจุบัน

จังหวัดจันทบุรีมีเนื้อที่ประมาณ 6,338 ตารางกิโลเมตร หรือ 3,961,250 ไร่ เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 34 ของประเทศ สภาพพื้นที่ทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกโดยทั่วไปเป็นป่าไม้ ภูเขา และที่ราบสูง มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 30-190 เมตร เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำจันทบุรี แม่น้ำสายสำคัญของจังหวัดที่ไหลลงสู่อ่าวไทยทางทิศใต้ ส่วนทางทิศใต้เป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งทะเล และบริเวณชายฝั่งมีลักษณะเป็นอ่าว แหลม และหาดทราย

จันทบุรีเป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งของภูมิภาค เคยมีมนุษย์อาศัยอยู่ตั้งแต่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ดังหลักฐานการค้นพบเครื่องมือเครื่องใช้ยุคหินขัดอายุประมาณ 2,000 ปี ในเขตอำเภอมะขาม อำเภอท่าใหม่ และที่ราบเชิงเขาที่บ้านคลองบอน อำเภอโป่งน้ำร้อน โดยสันนิษฐานว่าเริ่มมีการตั้งเป็นชุมชนเมืองขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 ที่บริเวณหน้าเขาสระบาป โดยชนพื้นเมืองกลุ่มแรกเป็นชนเผ่าในตระกูลมอญ-เขมร หรือเรียกว่า ชาวชอง ดำรงชีพด้วยการเก็บของป่าขาย แต่ปัจจุบันพื้นที่ป่าลดน้อยลงไปมาก เพราะถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่ทางการเกษตร และที่ดินส่วนมากถูกจับจองโดยคนไทยและคนจีน อีกทั้งการเก็บของป่ากลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย นายพรานชาวชองจึงต้องเปลี่ยนวิถีการดำรงชีพไปเป็นแรงงานต่างๆ ในเมือง และมีบางส่วนที่ยังคงยึดอาชีพทำสวนทำนาอยู่ ปัจจุบันชาวชองรวมตัวกันอยู่ที่บ้านคลองพลู กิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ

ในปี พ.ศ. 2200 ได้มีการย้ายเมืองมาอยู่ที่บ้านลุ่ม ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจันทบุรี ต่อมาเมื่อกรุงศรีอยุธยาพ่ายสงครามและตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเป็นพระยาวชิรปราการ ก็ได้นำกำลังพลประมาณ 500 คน ตีฝ่าวงล้อมพม่าออกมาทางทิศตะวันออก และจัดตั้งเมืองจันทบุรีเป็นแหล่งสะสมเสบียงอาหารและกำลังพลเป็นเวลาถึง 5 เดือน ก่อนนำทัพที่ประกอบด้วยไพร่พลทั้งชาวไทยและจีนจำนวนราว 5,000 คน กลับไปกอบกู้กรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2310 ซึ่งการมีบทบาทในการช่วยกอบกู้เอกราชของชาติในครั้งนั้น นับเป็นเหตุการณ์ที่เป็นความภาคภูมิใจของชาวจันทบุรี ปัจจุบันจึงมีโบราณสถานและอนุสรณ์สถานหลายแห่งที่เกี่ยวข้องหรือจัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในครั้งนั้น

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้โปรดให้ย้ายเมืองจันทบุรีไปตั้งบนพื้นที่สูงที่บ้านเนินวง เพื่อให้เป็นที่มั่นในการป้องกันการถูกรุกรานจากชาวญวน จนกระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ รัชกาลที่ 5 โปรดให้ย้ายหัวเมืองจันทบุรีกลับมาตั้งที่บ้านลุ่มตามเดิม เนื่องจากบ้านเนินวงนั้นอยู่ไกลจากแหล่งน้ำ

ในปี พ.ศ. 2436 เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับประเทศฝรั่งเศส ชาวฝรั่งเศสได้เข้ามายึดครองเมืองจันทบุรีไว้นานถึง 11 ปี จนไทยต้องยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศสไป เพื่อแลกเอาเมืองจันทบุรีกลับคืนมา ต่อมาในปี พ.ศ. 2476 มีการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินขึ้นใหม่ เมืองจันทบุรีจึงมีฐานะเป็นจังหวัดมาจนถึงปัจจุบัน

ชื่อเมืองจันทบุรี หรือ เมืองจันท์ นั้น มีความหมายว่า เมืองที่สงบร่มเย็น เช่นเดียวกับเมื่ออยู่ใต้แสงจันทร์ โดยมีตราประจำจังหวัดเป็นดวงจันทร์กำลังส่องแสง มีกระต่ายน้อยอยู่ตรงกลาง

จังหวัดจันทบุรีแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 9 อำเภอ และ 1 กิ่งอำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอท่าใหม่ อำเภอขลุง อำเภอแหลมสิงห์ อำเภอโป่งน้ำร้อน อำเภอมะขาม อำเภอสอยดาว อำเภอนายายอาม อำเภอแก่งหางแมว และกิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ

จันทบุรีอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 245 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดจันทบุรีได้ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัวและรถประจำทาง

การเดินทางไป จันทบุรี

  • โดยรถยนต์:
    จากกรุงเทพฯ สามารถไปได้ 5 เส้นทาง คือ

    1. ใช้ทางหลวงหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) ผ่านจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดชลบุรี บางแสน อำเภอศรีราชา พัทยา อำเภอสัตหีบ อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง จนถึงจังหวัดจันทบุรี รวมระยะทางประมาณ 330 กิโลเมตร

    2. ใช้ทางหลวงหมายเลข 34 (บางนา-บางปะกง) และทางหลวงหมายเลข 3 (สุขุมวิท) จนถึงอำเภอเมืองฯ จังหวัดชลบุรี บริเวณกิโลเมตรที่ 98 แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 344 (ชลบุรี-แกลง) ผ่านอำเภอบ้านบึง อำเภอวังจันทร์ และอำเภอแกลง ระยะทางประมาณ 110 กิโลเมตร จากนั้นแยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 3 ต่อไปอีกประมาณ 58 กิโลเมตร จนถึงจังหวัดจันทบุรี รวมระยะทางประมาณ 266 กิโลเมตร

    3. ใช้ทางหลวงหมายเลข 34 (บางนา-บางปะกง) และทางหลวงหมายเลข 3 (สุขุมวิท) จนถึงกิโลเมตรที่ 140 แยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 36 ที่อำเภอบางละมุง ไปต่ออีกประมาณ 60 กิโลเมตร จนถึงอำเภอเมืองฯ จังหวัดระยอง แล้วแยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 3 (สุขุมวิท) ต่อไปอีกประมาณ 108 กิโลเมตร จนถึงจังหวัดจันทบุรี รวมระยะทางประมาณ 308 กิโลเมตร

    4. ใช้ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (กรุงเทพฯ-ชลบุรี หรือมอเตอร์เวย์) ไปจนถึงเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ระยะทาง 90 กิโลเมตร จากนั้นแยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 36 อีกประมาณ 50 กิโลเมตร จนถึงอำเภอเมืองฯ จังหวัดระยอง แล้วแยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 3 (สุขุมวิท) ต่อไปอีกประมาณ 108 กิโลเมตร จนถึงจังหวัดจันทบุรี รวมระยะทางประมาณ 248 กิโลเมตร

    5. ใช้ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (กรุงเทพฯ-ชลบุรี หรือมอเตอร์เวย์) ไปจนถึงอำเภอเมืองฯ จังหวัดชลบุรี จากนั้นแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 344 (ชลบุรี-แกลง) ผ่านอำเภอบ้านบึง อำเภอวังจันทร์ และอำเภอแกลง ระยะทางประมาณ 110 กิโลเมตร จากนั้นแยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 3 ต่อไปอีกประมาณ 58 กิโลเมตร จนถึงจังหวัดจันทบุรี
  • โดยรถประจำทาง:
    มีรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของเอกชน สายกรุงเทพฯ-จันทบุรี ออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออก หรือเอกมัย ถนนสุขุมวิท และสถานีขนส่งสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ หรือหมอชิต 2 ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่ง สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th

    ปัจจุบันบริษัท ขนส่ง จำกัด ได้เปิดให้บริการจองตั๋วรถโดยสารออนไลน์แล้ว ติดต่อได้ที่ www.thaiticketmajor.com นอกจากนี้ยังสามารถซื้อตั๋วออนไลน์ได้ที่ไทยรูท ดอทคอม www.thairoute.com

การเดินทางภายใน จันทบุรี

ในตัวจังหวัดจันทบุรีมีรถชนิดต่างๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่างๆ ได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม

รถสองแถว มีวิ่งบริการจากสถานีขนส่งไปยังที่ต่างๆ ในตัวเมือง นักท่องเที่ยวอาจเหมารถสองแถวไปเที่ยวได้ทั้งในเมืองและต่างอำเภอ คิดราคาวันละ 1,000-2,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางและการต่อรอง

รถสามล้อเครื่องและมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จอดอยู่ตามจุดต่างๆ ในจังหวัด เช่น หน้าตลาดเทศบาล หน้าสถานีขนส่ง ค่าบริการมีทั้งแบบตกลงกันตามแต่ระยะทางและแบบเหมาจ่าย

ระยะทางจากอำเภอเมืองจันทบุรีไปยังอำเภอต่างๆ คือ

-อำเภอท่าใหม่ 10 กิโลเมตร
-อำเภอขลุง 15 กิโลเมตร
-อำเภอแหลมสิงห์ 20 กิโลเมตร
-อำเภอโป่งน้ำร้อน 25 กิโลเมตร
-อำเภอมะขาม 30 กิโลเมตร
-อำเภอสอยดาว 35 กิโลเมตร
-อำเภอนายายอาม 40 กิโลเมตร
-อำเภอแก่งหางแมว 45 กิโลเมตร
-กิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ 50 กิโลเมตร


จองที่พัก จองห้องพัก จองรีสอร์ท จองโรงแรมที่พัก


Thanks for visiting!

TourTravelThai.com