Logo My Travel Site

จังหวัดพังงา


คำขวัญประจำจังหวัดพังงา  "แร่หมื่นล้าน บ้านกลางน้ำ ถ้ำงามตา ภูผาแปลก แมกไม้จำปูน บริบูรณ์ด้วยทรัพยากร"

พังงาคือจังหวัดที่เต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ทั้งบนบกและใต้น้ำ โดยเฉพาะกลุ่มเกาะสวยงามที่วางตัวเรียงรายอยู่ในทะเลอันดามัน จนพังงาได้รับสมญานามว่าเป็นดินแดนแห่งป่าเกาะ รวมทั้งยังมีผืนป่าชายเลนหนาแน่นและอุดมสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย

พังงาเต็มไปด้วยวิถีชีวิตที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องราวของผู้คนหลากเชื้อชาติ ทั้งไทย จีน มุสลิม และชาวไทยใหม่ (ชาวเล) ที่อาศัยอยู่ในชุมชนเก่าแก่ที่น่าสนใจ เช่น เกาะปันหยี เกาะยาว หมู่บ้านชาวมอแกนในบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ ชุมชนชาวเหมืองแร่ที่ตะกั่วป่า ฯลฯ

นอกจากนั้น พังงายังเต็มไปด้วยแหล่งธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์ เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เช่น โลกใต้น้ำของหมู่เกาะสิมิลัน ดงปะการังหลากหลายและฝูงปลาน้อยใหญ่ใต้ทะเลหมู่เกาะสุรินทร์ เขาตาปู เขาพิงกัน เกาะพระทอง ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นทรัพยากรล้ำค่าที่ทำให้พังงาเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวเสมอมา

จังหวัดพังงามีเนื้อที่ประมาณ 4,171 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศ คือ ฝั่งตะวันตกติดทะเลอันดามัน ส่วนบนบกนั้นส่วนใหญ่เป็นเทือกเขา พื้นที่ป่าเป็นป่าดงดิบ สภาพภูมิประเทศที่หลากหลายและสวยงามนี้เองที่ก่อให้เกิดมูลค่าทางการท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มเกาะ เช่น หมู่เกาะสิมิลัน หมู่เกาะสุรินทร์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวประเภทอื่น คือ หาดทรายชายทะเล ป่าดิบ ป่าชายเลน น้ำตก และโถงถ้ำ

พังงาเริ่มต้นความเป็นมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ หลักฐานที่ขุดค้นพบมีทั้งเครื่องมือหิน ภาพเขียนสีในถ้ำ อาวุธที่ทำจากกระดูกสัตว์ ภาชนะดินเผา ฯลฯ หลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งที่สนับสนุนว่าพังงาเป็นเมืองเก่าแก่ คือเครื่องปั้นดินเผาและกำไลหิน อายุ 3,000-4,000 ปี ที่พบในถ้ำสุวรรณคูหา

ในสมัยประวัติศาสตร์ พบหลักฐานว่า ชาวกลิงคราฐหลบหนีการโจมตีของพระเจ้าอโศกมหาราชอยู่ในบริเวณริมทะเลแถวเมืองตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง และถลาง ครั้นถึง พ.ศ. 300 ชาวอินเดียที่หนีมาได้นำศิลปวัฒนธรรมมาด้วย โดยมีการพบรูปสลักหินพระลักษมณ์ พระราม และนางสีดา ในบริเวณเมืองเก่าของตะกั่วป่า และในหนังสือมิลินทปัญหา ชาวอินเดียเรียกตะกั่วป่าว่าตะโกลา หรือตกโกล ซึ่งแปลว่าลูกกระวาน ปัจจุบันนี้คนเฒ่าคนแก่ก็ยังเรียกบริเวณนี้ว่าเมืองตะโกลา

ล่วงมาจนถึงสมัยอยุธยา พังงามีฐานะเป็นเมืองแขวง ขึ้นอยู่กับเมืองตะกั่วป่า จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 1 ได้รับการยกฐานะให้เป็นเมืองเทียบเท่าเมืองตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 2 พม่ามาตีเมืองตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง และถลาง จึงมีการย้ายผู้คนมาอยู่ที่ตำบลกราภูงา ซึ่งอยู่ตรงปากน้ำพังงา และตั้งชื่อเมืองว่าภูงา ขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งต่อมาคำว่าภูงาเพี้ยนเป็นพังงา

จนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 เมืองพังงา ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง ขึ้นตรงกับกรุงเทพฯ กระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 5 มีการยุบเมืองตะกั่วป่าขึ้นกับเมืองพังงา หลังจากนั้น พังงาก็ได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัดในสมัยรัชกาลที่ 6 ทว่าช่วงที่เมืองรุ่งเรืองอย่างที่สุดนั้นอยู่ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 เพราะกิจการเหมืองแร่ดีบุกในพังงาเจริญก้าวหน้ามาก

หลังจากหมดยุคเหมืองแร่ พังงาก็กลับสู่ความเงียบสงบ กระทั่งกองถ่ายภาพยนตร์เรื่องเจมส์บอนด์เลือกอ่าวพังงาเป็นฉากถ่ายทำเมื่อปี พ.ศ. 2517 ความงดงามของภูมิประเทศจึงถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก จากวันนั้นเอง พังงาก็เติบโตขึ้นในฐานะแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่งดงาม

จังหวัดพังงาแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ คือ อำเภอเมืองพังงา อำเภอกะปง อำเภอเกาะยาว อำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วทุ่ง อำเภอตะกั่วป่า อำเภอทับปุด และอำเภอท้ายเหมือง

พังงาอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 814 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดกาญจนบุรีได้หลายวิธี ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง และเครื่องบิน

การเดินทางไป พังงา

  • โดยรถยนต์:
    จากกรุงเทพฯ ไปพังงาได้ 2 เส้นทาง คือ

    1. ใช้ทางหลวงหมายเลข 32 (ธนบุรี-ปากท่อ) แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง จนเข้าเขตอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เมื่อถึงตำบลโคกกลอย อำเภอท้ายเหมือง เลี้ยวซ้ายไปทางอำเภอตะกั่วทุ่ง เพื่อเข้าสู่อำเภอเมืองพังงา รวมระยะทางจากกรุงเทพฯ 788 กิโลเมตร

    2. ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ไปจนถึงจังหวัดชุมพร จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านอำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 401 จนถึงบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 415 ผ่านอำเภอทับปุดสู่ตัวเมืองพังงา
  • โดยรถประจำทาง:
    มีรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของเอกชน สายกรุงเทพฯ-พังงา ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมง

    สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th

    ปัจจุบันบริษัท ขนส่ง จำกัด ได้เปิดให้บริการจองตั๋วรถโดยสารออนไลน์แล้ว ติดต่อได้ที่ www.thaiticketmajor.com นอกจากนี้ยังสามารถซื้อตั๋วออนไลน์ได้ที่ไทยรูท ดอทคอม www.thairoute.com
  • โดยเครื่องบิน:
    ไม่มีเที่ยวบินตรงมายังพังงา แต่สามารถเดินทางด้วยเครื่องบินไปลงที่ภูเก็ตหรือกระบี่ แล้วต่อรถโดยสารเข้าพังงา
    เที่ยวบินกรุงเทพฯ-ภูเก็ต ติดต่อการบินไทย โทร. 0 2356 1111 www.thaiairways.com ไทยแอร์เอเชีย โทร. 0 2515 9999 www.airasia.com บางกอกแอร์เวย์ส โทร. 0 2270 6699 www.bangkokair.comสายการบินนกแอร์ โทร. 1318 www.nokair.com และวัน ทู โก โทร. 1126 www.fly12go.com

    เที่ยวบินกรุงเทพฯ-กระบี่ ติดต่อการบินไทย โทร. 0 2356 1111 หรือ www.thaiairways.com และสายการบินไทยแอร์เอเชีย โทร. 0 2515 9999 หรือ www.airasia.com

การเดินทางภายใน พังงา

ในตัวเมืองพังงามีรถโดยสารประจำทางไปยังอำเภอต่างๆ ได้อย่างสะดวก นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะได้หลายรูปแบบตามอัธยาศัย สอบถามรายละเอียดได้ที่สถานีขนส่งพังงา โทร. 0 7641 2300

นอกจากนี้ยังมีรถสองแถวไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่น ถ้ำพุงช้าง ถ้ำฤาษีสวรรค์ ฯลฯ คิวรถสองแถวและรถตู้ส่วนใหญ่อยู่ในตัวเมืองและบริเวณสถานีขนส่งพังงา

นอกจากเส้นทางบนบก ยังมีท่าเรือสำหรับไปเที่ยวเกาะหลายแห่ง เช่น ไปเที่ยวอ่าวพังงา ติดต่อเรือได้ที่ท่าเรือบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ท่าเรือท่าด่านศุลกากร เป็นท่าที่อยู่ใกล้ตัวเมืองที่สุด ท่าเรือสุระกุล (ท่าเรือกระโสม) อยู่ในอำเภอตะกั่วทุ่ง ไปหมู่เกาะสุรินทร์หรือเกาะพระทอง ติดต่อเรือได้ที่ท่าเรือคุระบุรี ไปหมู่เกาะสิมิลัน ติดต่อเรือได้ที่ท่าเรือทับละมุ ไปเกาะยาวน้อย-เกาะยาวใหญ่ ติดต่อเรือได้ที่ท่าเรือท่าด่านศุลกากร เป็นต้น

ระยะทางจากอำเภอเมืองพังงาไปยังอำเภอต่างๆ คือ

-อำเภอตะกั่วทุ่ง 12 กิโลเมตร
-อำเภอทับปุด 26 กิโลเมตร
-อำเภอกะปง 47 กิโลเมตร
-อำเภอท้ายเหมือง 57 กิโลเมตร
-อำเภอตะกั่วป่า 65 กิโลเมตร
-อำเภอคุระบุรี 125 กิโลเมตร
-อำเภอเกาะยาว 138 กิโลเมตร


จองที่พัก จองห้องพัก จองรีสอร์ท จองโรงแรมที่พัก


Thanks for visiting!

TourTravelThai.com