Logo My Travel Site

จังหวัดตราด



คำขวัญประจำจังหวัดตราด  "เมืองเกาะครึ่งร้อย พลอยแดงค่าล้ำ ระกำแสนหวาน หลังอานหมาดี ยุทธนาวีเกาะช้าง สุดทางบูรพา
"

ตราดเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ เพราะเป็นที่ตั้งของเกาะที่สวยงามจำนวนมาก จนได้ชื่อว่าเป็น เมืองเกาะครึ่งร้อย โดยมีเกาะที่สำคัญที่สุดคือเกาะช้าง ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากเกาะภูเก็ต

นอกจากนี้ จังหวัดตราดยังมีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ มีการคมนาคมทางถนนที่สะดวกสบาย และมีสนามบินที่มีเที่ยวบินพาณิชย์ขึ้น-ลงเป็นประจำทุกวัน ทำให้เมืองแห่งนี้มีศักยภาพในด้านการท่องเที่ยวสูง พร้อมที่จะพัฒนาไปเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญยิ่งขึ้นต่อไป

ชื่อเมืองตราดนั้น สันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจากคำว่า กราด ซึ่งเป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งใช้ทำไม้กวาด ที่ในอดีตมีขึ้นอยู่รอบเมืองเป็นจำนวนมาก แต่พอถึงรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา เมืองตราดก็มีอีกชื่อหนึ่งว่า บ้านบางพระ รวมทั้งมีการเรียกกันอีกชื่อว่า เมืองทุ่งใหญ่ ดังปรากฏในทำเนียบหัวเมืองสมัยพระเจ้าปราสาททองว่าเป็นหัวเมืองชายทะเลสังกัดฝ่ายการต่างประเทศ และเกี่ยวข้องกับด้านการคลัง เนื่องจากในสมัยนั้น ตราดเป็นหนึ่งในเมืองท่าชายทะเลที่มีชัยภูมิเหมาะกับการแวะจอดเรือสินค้า บริเวณชายฝั่งทะเลของเมืองตราดจึงมีชุมชนพ่อค้าชาวจีนตั้งอยู่

ในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา ตราดมีบทบาทเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาค ได้ส่งสินค้าไปขายยังต่างประเทศหลายอย่าง โดยเฉพาะของป่า เช่น เขากวาง หนังสัตว์ ไม้หอม และเครื่องเทศต่างๆ ซึ่งล้วนหามาได้จากเขตป่าชายฝั่งทะเลในแถบนี้ทั้งสิ้น

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในขณะดำรงตำแหน่งเป็นพระยาวชิรปราการ หรือพระยาตาก ได้นำกำลังพลตีฝ่าวงล้อมพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยาในสงครามเสียกรุงครั้งสุดท้ายมาทางทิศตะวันออก ได้ทรงเลือกตราดเป็นเมืองหน้าด่านกันชน ทำหน้าที่ส่งเสบียงอาหารให้เมืองจันทบุรี อันเป็นเมืองที่ตั้งของกองกำลังกอบกู้เอกราช ก่อนเคลื่อนกองทัพออกทำสงครามกู้เอกราชจนสำเร็จ

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ไทยทำศึกกับเจ้าอนุวงศ์แห่งเมืองเวียงจันทน์ ซึ่งต่อมาเวียงจันทน์หันไปสวามิภักดิ์กับญวน ไทยกับญวนจึงทำสงครามกันในปี พ.ศ. 2371 โดยมีเมืองตราดเป็นแหล่งกำลังพลและเสบียงอาหาร มีการตั้งป้อมค่ายอยู่ที่บ้านแหลมหิน ปากอ่าวเมืองตรา ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประเทศฝรั่งเศสได้ส่งกองทัพเรือเข้ายึดเมืองจันทบุรีในปี พ.ศ. 2436 และคืนให้ไทยในปี พ.ศ. 2447 โดยแลกกับเมืองตราดและเกาะต่างๆ ตั้งแต่แหลมสิงห์ไปจนถึงเกาะกูด รวมทั้งเมืองปัจจันตคีรีเขตร (เกาะกง)

ต่อมารัฐบาลไทยเห็นว่าตราดมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ และพลเมืองส่วนใหญ่เป็นคนไทย ด้วยพระปรีชาสามารถทางการปกครองและการทูตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝรั่งเศสจึงยินยอมทำสัญญายกเมืองตราด เมืองด่านซ้าย (อยู่ในเขตจังหวัดเลย) และเกาะต่างๆ ตั้งแต่แหลมสิงห์ไปจนถึงเกาะกูดคืนให้แก่ไทย โดยแลกกับดินแดนพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ โดยทำสัญญากันในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449 ฝ่ายไทยมีพระยามหาอำมาตยาธิบดี ซึ่งในขณะนั้นเป็นพระยาศรีเทพ ตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าผู้แทนรัฐบาลไทย ส่วนฝ่ายฝรั่งเศสมีเมอซิเออร์รูซโซเรซิดังเป็นหัวหน้าผู้แทนรัฐบาลฝรั่งเศส ได้กระทำพิธีส่งและรับมอบดินแดนกัน ณ ศาลากลางจังหวัด และฝรั่งเศสยอมถอนกำลังทหารออกไปในเวลาต่อมา ปัจจุบันชาวเมืองตราดได้ถือเอาวันที่ 23 ของทุกปีเป็นวัน "ตราดรำลึก"

ต่อมาวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2484 ในช่วงระหว่างสงครามอินโดจีน เรือรบฝรั่งเศสได้ล่วงล้ำน่านน้ำไทยในเขตจังหวัดตราด กองเรือรบราชนาวีไทยจึงได้เข้าขัดขวาง จนเกิดการยิงต่อสู้กันซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนาม "ยุทธนาวีที่เกาะช้าง" ครั้งนั้นฝ่ายไทยสามารถขับไล่ข้าศึกให้ล่าถอยไป และรักษาเมืองยุทธศาสตร์ที่อุดมสมบูรณ์แห่งนี้ไว้ได้ แต่ก็ต้องสูญเสียเรือรบหลวงไปถึง 3 ลำ คือ เรือรบหลวงสงขลา เรือรบหลวงชลบุรี และเรือรบหลวงธนบุรี รวมทั้งชีวิตทหารอีกจำนวนหนึ่ง

ปี พ.ศ. 2521 เกิดสงครามสู้รบครั้งใหญ่ในกัมพูชา ทำให้มีชาวเขมรจำนวนนับแสนหนีตายเข้ามาในเขตไทยทางเทือกเขาบรรทัด เส้นทางหลวงหมายเลข 318 ที่เริ่มจากตัวเมืองตราดเลียบขนานเทือกเขาบรรทัดและชายฝั่งทะเลสู่อำเภอคลองใหญ่ กลายเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สายสำคัญ และเมื่อสงครามสงบลงในปี พ.ศ. 2529 เส้นทางสายนี้ก็ได้แปรเปลี่ยนเป็นเส้นทางการค้าระหว่างชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณตลาดหาดเล็กที่สุดเขตชายแดนไทย และเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางต่อไปยังเกาะกง

ปัจจุบันจังหวัดตราดแบ่งเขตการปกครองออกเป็น7 อำเภอ เช่น อำเภอเมืองตราด อำเภอคลองใหญ่ อำเภอแหลมงอบ อำเภอเกาะกูด อำเภอเกาะช้าง ฯลฯ

ตราดอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 315 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดตราดได้หลายวิธี ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง และเครื่องบิน

การเดินทางไป ตราด

  • โดยรถยนต์:
    จากกรุงเทพฯ สามารถไปได้ 3 เส้นทาง คือ

    1. ใช้ทางหลวงหมายเลข 3 (สุขุมวิท) ผ่านจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดชลบุรี อำเภอศรีราชา พัทยา อำเภอสัตหีบ จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี จนถึงจังหวัดตราด รวมระยะทางประมาณ 385 กิโลเมตร

    2. ใช้ทางหลวงหมายเลข 34 (บางนา-บางปะกง) และทางหลวงหมายเลข 3 (สุขุมวิท) จนถึงจังหวัดชลบุรี แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 344 (ชลบุรี-แกลง) บริเวณกิโลเมตรที่ 98 ผ่านอำเภอบ้านบึง จนถึงอำเภอแกลง จากนั้นแยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 3 ต่อไปจนถึงจังหวัดจันทบุรี รวมระยะทางประมาณ 318 กิโลเมตร

    3. ใช้ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (กรุงเทพฯ-ชลบุรี หรือมอเตอร์เวย์) ไปจนถึงอำเภอเมืองฯ จังหวัดชลบุรี จากนั้นแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 344 (ชลบุรี-แกลง) ผ่านอำเภอบ้านบึง จนถึงอำเภอแกลง จากนั้นแยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 3 ต่อไปจนถึงจังหวัดจันทบุรี รวมระยะทางประมาณ 318 กิโลเมตร
  • โดยรถประจำทาง:
    มีทั้งรถธรรมดา และรถปรับอากาศออกจาก สถานีขนส่งสายตะวันออก (เอกมัย) ถนนสุขุมวิท

    รถโดยสารปรับอากาศ มีรถปรับอากาศ ชั้น 1 (ปอ.1) ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมง นอกจากนั้นยังมีบริษัทเดินรถเอกชนที่วิ่งบริการ ได้แก่ บริษัท เชิดชัย ทัวร์ โทร. 0 2391 2237, 0 2391 4164 สาขาตราด โทร. 0 3951 1062, โชคอนุกูล ทัวร์ โทร. 0 2392 7680 สาขาตราด โทร. 0 3951 1587 และ ศุภรัตน์ ทัวร์ บริการรถ V.I.P. โทร. 0 2391 2331 สาขาตราด โทร. 0 3951 1481

    รถโดยสารธรรมดา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ประชาสัมพันธ์สถานีขนส่งเอกมัย โทร. 0 2391 2504, 0 2391 4164

    จาก สถานีขนส่งหมอชิต ถนนกำแพงเพชร 2 มีบริการรถปรับอากาศชั้น 1 ไปจังหวัดตราดทุกวัน (วิ่งเส้นมอเตอร์เวย์ ) สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 2537 8055, 0 2936 28526

    นอกจากนั้นยังมีบริษัทเดินรถเอกชนที่วิ่งบริการ ได้แก่ บริษัท ศุภรัตน์ ทัวร์ โทร. 0 2936 3388 สาขาตราด โทร. 0 3951 1481 บริษัท เชิดชัย ทัวร์ โทร. 0 2936 0199 สาขาตราด โทร. 0 3951 1062
  • โดยเครื่องบิน:
    บริษัท บางกอกแอร์เวย์ จำกัด มีเที่ยวบินระหว่างกรุงเทพฯ-ตราด (อยู่ในเขตอำเภอเขาสมิง) ทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ และอาทิตย์ สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 2265 5555, 0 2265 5678 สำนักงานตราด โทร. 0 3952 5767-8, 0 3952 5299 www.bangkokair.com (มีบริการรถรับ-ส่งนักท่องเที่ยวจากสนามบินไปท่าเรือเฟอร์รี่ ที่จะข้ามไปเกาะช้าง)

การเดินทางภายใน ตราด

ในตัวจังหวัดตราดมีรถประเภทต่างๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่างๆ ได้หลายรูปแบบ และจากสนามบินมีรถตู้ของบริษัทบางกอกแอร์เวย์สบริการส่งถึงที่ต่างๆ ในตัวเมือง

มีรถสองแถวเล็กวิ่งบริการจากสถานีขนส่งและตลาดเทศบาลไปยังที่ต่างๆ ในตัวเมือง และมีรถสองแถววิ่งจากตัวเมืองไปยังแหลมงอบ แหลมศอก เขาสมิง บ่อไร่ แสนตุ้ง ฯลฯ จอดที่บริเวณหลังตลาดเทศบาลและข้างธนาคารกรุงศรีอยุธยาทุกวัน ตั้งแต่เวลาประมาณ 06.00-19.00 น. หลังจากเวลานี้นักท่องเที่ยวจะต้องเช่าเหมาคัน และอาจเหมารถไปเที่ยวได้ทั้งในเมืองและต่างอำเภอ คิดราคาขึ้นอยู่กับระยะทางและการต่อรอง

รถสามล้อเครื่องและมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จอดอยู่ตามจุดต่างๆ ในจังหวัด เช่น หน้าตลาดเทศบาล หน้าสถานีขนส่ง ค่าบริการมีทั้งแบบตกลงกันตามแต่ระยะทางและแบบเหมาจ่าย

ที่อำเภอแหลมงอบมีท่าเรือที่มีเรือโดยสารไปยังเกาะช้าง เกาะกูด เกาะหมาก และหมู่เกาะอื่นๆ หลายแห่ง ได้แก่ ท่าเทียบเรือแหลมงอบ ท่าเทียบเรือเกาะช้างเฟอร์รี และท่าเรือเฟอร์รีอ่าวธรรมชาติ และนักท่องเที่ยวสามารถเช่าเรือเหมาลำ ซึ่งเป็นเรือประมงดัดแปลงขนาดเล็กจุได้ประมาณ 10 คน ไปเที่ยวยังเกาะต่างๆ ได้ ราคาแล้วแต่ตกลง

มีรถตู้วิ่งจากตัวเมืองตราดไปยังอำเภอคลองใหญ่และบ้านหาดเล็กทุกวัน ตั้งแต่เวลา 03.00-19.00 น. รถออกจากหน้าโรงหนังศรีตราดดราม่า ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง

ระยะทางจากอำเภอเมืองตราดไปยังอำเภอต่างๆ คือ

-อำเภอเขาสมิง 16 กิโลเมตร
-อำเภอแหลมงอบ 17 กิโลเมตร
-อำเภอบ่อไร่ 59 กิโลเมตร
-อำเภอคลองใหญ่ 74 กิโลเมตร
-อำเภอเกาะช้าง 27 กิโลเมตร
-อำเภอเกาะกูด 82 กิโลเมตร


จองที่พัก จองห้องพัก จองรีสอร์ท จองโรงแรมที่พัก


Thanks for visiting!

TourTravelThai.com